สำนักงานที่ปรึกษากฎหมายและวิศวกรรม  รังสรรค์ วงษ์บุญ
Office of Law and Engineering Consultants
The only thing necessary for the triumph of evil is for good men to do nothing.


    รายการก่อสร้าง (SPECIFICATION)

ความหมายของรายการก่อสร้าง

หมายถึง เอกสารที่แสดงถึงความต้องการของเจ้าของงานโดยผ่านทางผุ้ออกแบบเพื่อให้ผู้รับเหมาก่อสร้างดำเนินการก่อสร้าง
ให้แล้วเสร็จภายใต้งบประมาณที่ได้มีการตกลงกันไว้ในสัญญาก่อสร้างที่ได้ทำไว้ก่อนหน้านั้น

ข้อควรพิจารณาในการเขียนข้อกำหนดรายการก่อสร้าง

ความต้องการของเจ้าของงาน
          จะต้องสอบถามเจ้าของงานให้ละเอียดว่าเขาต้องการอะไรแน่  บางครั้งเจ้าของโครงการหรือเจ้าของเงินต้องการอย่าง
หนึ่งเพราะเขารู้เขาเห็น น้อยกว่าผู้ออกแบบ กรณีนี้ผู้ออกแบบจะต้องบอกเจ้าของว่ามีของอย่างอื่นที่คล้ายกับที่เขาต้องการ
ด้วยเผื่อว่าเขาจะเปลี่ยนใจก่อนลงมือก่อสร้างไม่ใช่ก่อสร้างไปแล้วบอกให้รื้อออกเพราะไม่ชอบโดยอ้างว่าอ่านแบบไม่เป็น 
ไม่เห็นของจริงเลยไม่รู้พอเห็นของจริงเข้าไม่ชอบ เป็นต้น ทำให้งานทั้งโครงการต้องล่าช้าเพราะกรณีนี้ไม่น้อยในความเป็น
จริงซึ่งส่วนมากมักเป็นโครงการภาคเอกชน

ความต้องการทางด้านเทคนิคที่จะทำให้ได้ตามความต้องการของเจ้าของงาน
          เมื่อทราบความต้องการที่แน่นอนของเจ้าของงานแล้ว  สถาปนิกและวิศวกรจะต้องมาคิดต่อว่าจะมีวิธีการก่อสร้างอย่าง
ไรจึงจะเป็นไปตามความต้องการของเจ้าของงานทั้งหมด ซึ่งในข้อเท็จจริงบางครั้งก็ไม่สามารถตอบสนองความต้องการของ
เจ้าของงานได้ทั้งหมดได้เพราะขีดจำกัดทางด้านเทคนิคก่อสร้าง หรือถ้าหากจะทำได้ก็จะต้องเสียงบประมาณมากจนเกินความ
จำเป็นก็ได้ จะต้องชี้แจงให้เจ้าของโครงการเข้าใจ

ข้อกำหนด มาตรฐาน กฎหมาย ที่เกี่ยวข้อง
ที่ไม่ควรลืมอีกประการหนึ่งก็คือ กฎ ระเบียบ มาตรฐาน หรือ กฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพราะปัจจุบันการก่อสร้างในเมืองจะไม่
สามารถทำได้อย่างเสรีเหมือนเมื่อก่อนเนื่องจากมีกฎหมายสิ่งแวดล้อมที่กำหนดเกณฑ์มาตรฐานของฝุ่นละอองที่จะต้องไม่
เกินจากที่กำหนด  ข้อห้ามไม่ให้รถบรรทุกดินวิ่งในบางเวลา หรือ ต้องไม่ให้รถขนดินทำเศษวัสดุตกหล่นบนถนนหลวง เป็นต้น 
สิ่งต่างๆ เหล่านี้ล้วนแต่มีผลกระทบต่อรายการก่อสร้างทั้งสิ้น

ความต้องการเบื้องต้นในการจัดทำรายการก่อสร้าง(BASIC REQUIREMENT)

ผู้ที่จะทำหน้าที่เขียนรายการก่อสร้างจะต้องมีความละเอียดรอบคอบ รอบรู้เทคนิคและวิธีการก่อสร้างเป็นอย่างดีและต้องมี
ความเป็นธรรมอยู่ในใจที่จะไม่ให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเอาเปรียบฝ่ายตรงข้ามไม่ว่าจะเป็นฝ่ายเจ้าของโครงการหรือฝ่ายผู้รับเหมา
ก่อสร้างก็ตาม

ภาษาที่ใช้ในการเขียนรายการก่อสร้างจะต้องสั้น กะทัดรัด กระชับ ใช้ประโยคง่ายๆ  ภาษาง่ายๆ  ต้องการอะไรให้บอกไปเลย
ว่า ต้องทำ ไม่ควรใช้คำว่า ควรทำ  หรือถ้าไม่ต้องการให้ทำก็บอกไปตรงๆเลยว่า ห้ามทำ  ไม่ควรใช้คำว่า  ไม่ควรทำ 

รายการก่อสร้างที่ดีอย่างน้อยที่สุดจะต้องมีลักษณะดังต่อไปนี้  คือ 

1.    มีความพอเพียงทางด้านเทคนิค (TECHNICALLY ADEQUATE)  คือ  กำหนดรายละเอียดวิธีการก่อสร้างและวัสดุที่ใช้ 
ระบุวิธีการเก็บตัวอย่าง
และ วิธีการตรวจสอบที่ชัดเจนแน่นอนตรงตามความต้องการและเป็นไปตามแบบอย่างชัดเจน  อ่าน
แล้วเข้าใจได้ทันทีไม่ต้องมีการตีความ

2.    มีความประหยัด (ECONOMICALLY SOUND)  ใช้วัสดุและวิธีการก่อสร้างเหมาะสมกับงาน  วัสดุที่ใช้ในโครงการต้อง
เป็นแบบทั่วไป หาได้ง่ายตามท้องตลาดและวิธีการก่อสร้างคนทั่วไปคุ้นเคย สามารถก่อสร้างได้โดยใช้เครื่องจักรเครื่องมือ
ธรรมดาๆทั่วๆไป 

3.    ถ้อยคำและภาษาชัดเจน และแน่นอน (DEFINITE AND CERTAIN)  ภาษาที่ใช้ต้องสั้น กระชับ  ได้ใจความ และถูกต้อง
ตามหลักภาษา  หลีกเลี่ยงประโยคกำกวมที่จะต้องมีการตีความ  ใช้ภาษาที่คนทั่วไปยอมรับและเข้าใจได้ทันที  กำหนดความ
ต้องการให้ชัดเจนและเป็นหมวดหมู่   ในแต่ละย่อหน้าของรายการก่อสร้างจะต้องมีเพียงความต้องการเดียวหรือมีเพียงความ
หมายเดียว

4.   มีความยุติธรรมและมีความพอเหมาะพอดี (FAIR AND JUST) ไม่มีใครได้เปรียบเสียเปรียบใคร 

5. ข้อกำหนดและวิธีการในรายการก่อสร้างสามารถทำได้จริงและตรงตามความต้องการของเจ้าของงาน (
REALITY )

การแบ่งหมวดหมู่ในรายการก่อสร้าง

อย่างน้อยสามารถแบ่งรายการก่อสร้างออกได้เป็น 2 หมวดใหญ่ ๆ คือ

 1.    หมวดเงื่อนไขของสัญญา (CONDITION OF CONTRACT) ในหมวดนี้จะพูดถึง อำนาจหน้าที่ ความรับผิดชอบ ความ
ผูกพันทางกฎหมายระหว่างทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง
  ซึ่งในเงื่อนไขของสัญญาการก่อสร้างจะประกอบด้วย 2 ส่วน คือ

      เงื่อนไขทั่วไป (GENERAL CONDITION)
                    มักจะเหมือนๆกันในหลายๆโครงการก่อสร้าง  ซึ่งจะประกอบด้วย  บทนิยาม และการตีความ  ข้อกำหนดและ
เงื่อนไขในการเสนอราคา  เกณฑ์การตัดสินให้ชนะการประมูลและการทำสัญญา  ขอบเขตของงาน  การควบคุมงาน  การควบ
คุมวัสดุ  ความสัมพันธ์กันตามกฎหมายและความรับผิดชอบต่อสาธารณะ การดำเนินงานและความก้าวหน้า  การวัดผลงานและ
การจ่ายเงิน  ค่าจ้างแรงงานและเงื่อนไขการจ้างแรงงาน  เป็นต้น

      ความต้องการพิเศษเฉพาะงาน (SPECIAL REQUIREMENT) 

                   ในแต่ละโครงการมักจะไม่เหมือนกัน  เช่น สถานที่และลักษณะของงาน  รายละเอียดและความต้องการ
ของงาน  เวลาเริ่มและแล้วเสร็จของงาน  ขั้นตอนที่งานส่วนต่าง ๆ จะต้องแล้วเสร็จ  ระยะเวลาและวิธีการจ่ายเงิน 
การวัดและการประเมินผลงาน การปรับปรุงราคาในกรณีปริมาณงานเปลี่ยนแปลง  การจ่ายเงินล่วงหน้าและการจ่ายเงินคืน 
เงินประกันการเสียหายในการก่อสร้าง  เงินประกันการเสียหายในการก่อสร้าง  เงินค่าปรับเมื่อทำงานช้ากว่าแผน ข้อมูลต่าง
ๆ ที่เจ้าของงานจะต้องจัดหา  แบบรายละเอียด  รายการเครื่องจักรเครื่องมือที่เจ้าของงานจะต้องจัดหา  รายการสิ่งของของ
เจ้าของงานที่ผู้รับเหมาสามารถนำมาใช้ได้  ค่าใช้จ่ายสำหรับงานสนาม  ผู้รับเหมาะจะต้องจัดหาสิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐาน
ด้วย  ผู้รับเหมาะจะต้องป้องกันสิ่งที่จะก่อให้เกิดอันตรายหรือก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญ 

      2.    หมวดข้อกำหนดทางด้านเทคนิค (TECHNICAL CONDITION)  ในหมวดนี้จะพูดถึง วัสดุที่จะใช้ในการก่อสร้าง วิธีการ
วัด วิธีการตรวจสอบ  มาตรฐานที่จะใช้สำหรับอ้างอิง  ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับงานวิศวกรรมล้วนๆ  เป็นต้น

              ในหมวดข้อกำหนดทางด้านเทคนิค (TECHNICAL SPECIFICATION) จะให้รายละเอียดที่เกี่ยวข้องกับงาน
วิศวกรรมหลายๆสาขา  เช่น
                           รายละเอียดของเอกสารประกอบสัญญาว่ามีอะไรบ้างและให้ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของสัญญา 
                           ขอบเขตของงานซึ่งจะเป็นการชี้แจงรายละเอียดถึงเนื้องานที่จะต้องทำให้แต่ละส่วน 
                           ระบุวัสดุที่จะต้องใช้ พร้อมระบุมาตรฐานการตรวจสอบด้วยถ้ามี 
                           วิธีการเก็บตัวอย่าง ขนาดและจำนวนเท่าใดต้องส่งตัวอย่างไปทดสอบก่อนนำไปใช้                      
                           จะระบุว่าวัสดุใดบ้างที่ต้องมีการทดลองตรวจสอบ และวิธีการตรวจสอบใช้วิธีตามมาตรฐานอะไร 
                           จะระบุว่าแบบก่อสร้างใดต้องการให้ทำ
SHOP DRAWING เพิ่มเติม ต้องการขนาดมาตราส่วนเท่าใด 
                           หมวดความประสงค์ทั่วไปและวิธีการส่งมอบและเก็บรักษาวัสดุมาตรฐานที่ใช้ในงานก่อสร้าง
                           วิธีการตรวจวัดในสนาม ฯลฯ 
                           ผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป  ต้องการให้ทำมาก่อนแค่ใด ต้องประกอบจากโรงงานหรือประกอบที่หน้างาน 
                           วิธีการประกอบ วิธีการติดตั้ง วิธีการก่อสร้าง ระดับ ฝีมือที่ต้องการ การเตรียมพื้นที่ 
                           ระบุวิธีการทดสอบก่อนส่งและรับมอบงาน 
                           การเก็บกวาดพื้นท่าจะต้องระบุระดับความสะอาดที่ต้องการ 
                           จะต้องระบุระยะเวลาการค้ำประกันให้ชัดเจน 
                           วิธีการตรวจสอบ วิธีการจ่ายเงิน รับเงิน เงินหักเก็บเพื่อซ่อมแซมงาน 
                           ระบุว่างานใดทำเมื่อใด เสร็จเมื่อใด ทดสอบเมื่อใด ส่งมอบเมื่อใด  เป็นต้น
                           ฯลฯ

หลักการเขียนรายการก่อสร้าง (PRINCIPLE OF SPECIFICATION WRITING)

1.     ต้องถามเจ้าของโครงการให้แน่ใจต้องการอะไรแน่ ระดับคุณภาพอยู่ระดับใด สอดคล้องกับงบประมาณที่มีอยู่หรือไม่
2.    เขียนความต้องการให้สั้น กะทัดรัด ชัดเจน เกี่ยวกับเงื่อนไขทั่วไป ชนิดของงานและคุณภาพของฝีมือ
3.    แยกแยะหัวข้อทั้งเงื่อนไขเพิ่มเติมทั่วไป (GENERAL PROVISION) และข้อกำหนดทางด้านเทคนิค (TECHNICAL
REQUIREMENT) ให้ชัดเจนเพื่อสะดวกต่อการเชื่อมโยงหรืออ้างถึงให้ต่อเนื่องกับเอกสารประกอบสัญญาอื่น ๆ
4.   
วิเคราะห์งานแต่ละชนิดและเลือกข้อกำหนดทางด้านเทคนิคให้ตรงกับงานนั้น ๆ โดยอาศัยข้อกำหนดทางด้านเทคนิคของ
งานประเภทเดียวกันที่ได้เคยใช้หรือก่อสร้างมาก่อนเป็นตัวเปรียบเทียบ
5.    จัดลำดับความต้องการที่จะนำไปเขียนลงในแต่ละส่วนของข้อกำหนดให้สอดคล้องกับแบบก่อสร้างและสัญญา  ทั้งนี้เพื่อ
ให้ง่ายในการตรวจสอบและปฏิบัติตาม
6.     เขียนข้อกำหนดให้กระชับ  ครบถ้วนสมบูรณ์   ใช้ประโยคและถ้อยคำที่เป็นที่เข้าใจกันโดยทั่วไป
7.    ใช้ศัพท์ที่มีความหมายแน่นอน ไม่กำกวม ไม่ต้องตีความ เป็นที่เข้าใจตรงกัน  ไม่เข้าใจเป็นอย่างอื่น
8.    ต้องการอะไรให้สั่งลงไปตรง ๆ อย่าใช้คำพูดเชิงแนะนำ
9.    ไม่จำเป็นต้องระบุเหตุผลหรือให้คำอธิบายเพิ่มเติมในสิ่งที่ต้องการ
10.   อย่าระบุให้ทำในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ หรือ ไม่มีเหตุผล หรือ เสียค่าใช้จ่ายสูงกว่างบประมาณที่มีอยู่
11.   อย่ากำหนดความต้องการให้ขัดแย้งกัน
12.  
ให้ระบุขนาดมาตรฐาน (SIZE) หรือ รูปแบบมาตรฐาน (PATTERN) ทุกครั้งถ้าทำได้เพราะจะได้ไม่มีปัญหาในการสั่งของ
หรือสั่งวัสดุ
13.  
อย่าเขียนความต้องการซ้ำ ๆ กัน  ให้ใช้การอ้างอิงแทน
14.   พยายามลดการอ้างอิงไขว้กันไปไขว้กันมา  เช่น  กรณีมีข้อสงสัยให้ไปดูข้อ 5.2  และที่ข้อ 5.2 เขียนว่า  ให้ไปดูข้อ 6.8
 เป็นต้น
15.  อย่าปัดความรับผิดชอบไปให้ผู้รับเหมาถ้าเขาได้ทำตามข้อกำหนดครบถ้วน  อะไรก็ตามที่ผู้รับเหมาได้ทำตามข้อกำหนด
แล้วเกิดความเสียหายขึ้น  ผู้ออกข้อกำหนดจะต้องรับผิดชอบ
16.   มีความยุติธรรม คิดถึงอกเขาอกเรา
17.  อย่าปิดบัง ซ่อนเร้น ความยากลำบากของงานหรือที่อาจจะเป็นอันตรายได้  จะต้องบอกผู้รับเหมาให้ทราบว่างานตอนใดมี
อันตราย เช่นการสร้างห้อง
X - RAY ในโรงพยาบาล การวางสายโทรศัพท์ในท่อที่อยู่ใต้ดินลึกๆจะมีปัญหาการขาดอากาศ
หายใจต้องเตรียมอุปกรณ์ทำงานเป็นพิเศษ
18. 
ความต้องการที่เจ้าของโครงการต้องการจะต้องสามารถวัดได้ และ ต้องกำหนดวิธีการวัดให้ชัดเจนด้วย อย่ากำหนดวิธี
วัดโดยใช้ควา
รู้สึกเป็นเกณฑ์เพราะจะเป็นจุดเริ่มต้นของความขัดแย้ง การทะเลาะวิวาท การโต้เถียงที่หาข้อยุติไม่ได้  และจะ
ทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมในสัญญาการก่อสร้างได้

ประเภทของข้อกำหนดทางด้านเทคนิค (TYPE OF TECHNICAL SPECIFICATION)

เนื่องจากความต้องการของเจ้าของงานมีความหลากหลายแล้วแต่พื้นฐานทางการศึกษา อาชีพและประสบการณ์ของแต่ละ
คน  ดังนั้น  ในการเขียนข้อกำหนดทางด้านเทคนิคจึงต้องมีหลายประเภทเพื่อให้ตอบสนองความต้องการที่หลากหลายของ
เจ้าของงานแต่ละคนได้

วิวัฒน์  แสงเทียน และคณะ ได้แบ่งประเภทของรายการก่อสร้างไว้  ดังนี้

1.    PROPRIETARY SPECIFICATION  ข้อกำหนดที่มีการระบุยี่ห้อ รุ่น หมายเลขแคตตาล็อก สี หรือ รายละเอียดต่างๆให้
ชัดเจน ผู้ที่เกี่ยวข้องรู้ได้ทันทีว่าเป็นสิ่งใด เช่น กระเบื้องมุงหลังคาใช้
CPAC MONIER สีแดง เป็นต้น 

ข้อดีของ PROPRIETARY SPECIFICATION  ก็คือ ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเข้าใจตรงกันว่าต้องการอะไร คิดราคา
ง่าย ทำให้รายละเอียดข้อกำหนดสั้น กะทัดรัดได้คุณภาพงานตรงตามความต้องการของผู้ออกแบบ

                  ส่วนข้อเสียของ PROPRIETARY SPECIFICATION  ก็คือ ใช้กำหนดรายละเอียดได้เฉพาะวัสดุเท่านั้น  จะทำให้
ไม่มีการแข่งขันในการเสนอราคาทำให้งานมีราคาแพง และถ้าตอนลงมือก่อสร้างจะมีปัญหาถ้าหายี่ห้อนั้นไม่ได้ หรือ หาได้แต่
เจ้าของผู้ผลิตโก่งราคาขึ้นไปอย่างไม่เป็นธรรม นอกจากนี้วัสดุบางชนิดที่ใช้กันบ่อยๆแต่ไม่มียี่ห้อ เช่น อิฐบล็อก อิฐ  ทราย
 หิน  จะไม่สามารถนำมาใช้ในรายการก่อสร้างประเภทนี้ได้

2.  REFERENCE SPECIFICATION ข้อกำหนดที่อ้างอิงมาตรฐานที่มีอยู่ ที่ใช้อยู่ ที่ทุกคนยอมรับ เช่น ให้ใช้ปูนซีเมนต์
ประเภท 1 ตาม มอก.ที่ 15  เป็นต้น

                 ข้อดีของ  REFERENCE SPECIFICATION ก็คือ ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องยอมรับเพราะเป็นที่คุ้นเคยและใช้ทั่วไปไม่
จำกัดการแข่งขันรายละเอียดข้อกำหนดสั้น กระชับ กะทัดรัด มีน้ำหนักมากถ้าต้องมีการขึ้นศาลกรณีมีปัญหาในการทำงาน

                 ส่วนข้อเสียของ   REFERENCE SPECIFICATION ก็คือ วัสดุหรือวิธีการหลายอย่างไม่มีมาตรฐานให้อ้างอิง 
 มาตรฐานบางอย่างอาจล้าสมัย มาตรฐานบางอย่างเป็นเกณฑ์ขั้นต่ำ อาจปกป้องผลประโยชนของคนบางกลุ่มเท่านั้น ผู้รับ
เหมาต้องขวนขวายหามาตรฐานอ้างอิงเอาเองซึ่งกว่าจะได้รับการยอมรับจากเจ้าของงานจะเสียเวลาและค่าใช้จ่ายมาก

3.  DESCRIPTIVE SPECIFICATION: MATERIALS , METHODS & WORKMANSHIP  ข้อกำหนดที่ระบุวิธีการนำวัสดุไปใช้
งานจริง วิธีการก่อสร้าง และระดับฝีมือช่างที่ต้องการ

                 ข้อดีของการเขียนข้อกำหนดแบบ   DESCRIPTIVE SPECIFICATION ก็คือ  มีการระบุความต้องการได้ชัดเจน
ใช้ได้กับทุกงานเปิดโอกาสให้มีการแข่งขันกันโดยเสรี

                 ส่วนข้อเสียของ   DESCRIPTIVE SPECIFICATION ก็คือ  อาจไม่ได้ผลเพราะฝีมือช่างไม่ถึงระดับที่ต้องการ
หรือ ตรวจสอบระดับฝีมือช่างได้ยาก หรือ ถ้าทำได้ก็จะต้องเสียเวลาและค่าใช้จ่ายมาก  จะทำให้การเขียนข้อกำหนดยาว
เสียเวลาเขียนนานมาก เพื่อให้สอดคล้องกับระดับฝีมือช่างที่มีอยู่ เสียเวลาอ่านทำความเข้าใจมาก อาจจะต้องเพิ่มข้อความ
บางอย่างเพื่อให้ได้ผลตามต้องการ อาจทำให้ราคางานสูงขึ้น

4.  PERFORMANCE SPECIFICATION  รายการก่อสร้างที่ระบุผลสุดท้ายที่ต้องการเท่านั้น ส่วนวัสดุ และ แรงงาน วิธีการจัด
ซื้อ - จัดหา ตลอดจนวิธีการก่อสร้าง ผู้รับเหมาจะต้องเป็นผู้ดำเนินการจัดหา จัดซื้อ ด้วยตัวเองทั้งหมด

                 ข้อดีของ PERFORMANCE SPECIFICATION  ก็คือ ได้ผลตรงตามความต้องการของผู้ออกแบบ ผู้รับเหมามี
อิสระเต็มที่ในการทำงาน จะมีการแข่งขันสูง ข้อกำหนดจะสั้น และกะทัดรัด ใช้ได้กับงานทุกประเภท

                 ข้อเสียของ   PERFORMANCE SPECIFICATION  ก็คือ การกำหนดราคาที่แน่นอนทำได้ยาก ผู้รับเหมาจะใช้วิธี
ทำงานแตกต่างกันออกไป ควบคุมงานลำบากต้องทำตามผู้รับเหมาบอกตลอด ยิ่งถ้าไม่จำกัดค่าใช้จ่ายเอาไว้เจ้าของโครงการ
จะเสียค่าใช้จ่ายมาก

5.   
COMBINATION SPECIFICATION  รายการก่อสร้างแบบผสมตามความต้องการเฉพาะงาน มีข้อดีและข้อเสียตามแต่ละ
แบบที่นำมาใช้


 บรรณานุกรม

[ 1 ]      DAVID J. PRATT ,  FUNDAMENTALS OF CONSTRUCTION ESTIMATING, DELMAR PUBLISHERS, USA. 1995.

[ 2 ]      Akira hashimoto , Summary on Construction Cost , Land Consolidation Project , RID PRINTING , BANGKOK , 1989 .  

[ 3 ]      วินิจ ช่อวิเชียร, วิสุทธิ์  ช่อวิเชียร, การประมาณราคาก่อสร้าง , สำนักพิมพ์ ป. สัมพันธ์พาณิชย์ , กรุงเทพ, 2534.

[ 4 ]     แสวง ดาวัน, การประมาณราคางานก่อสร้าง , สำนักพิมพ์ ท. การพิมพ์ , กรุงเทพ, 2540.

[ 5 ]     วิวัฒน์ แสงเทียน, มนูญ นิจโภค, วิฑูรย์ เจียสกุล, การจัดการงานก่อสร้าง ,สำนักพิมพ์โอเดียนสโตร์,กรุงเทพ, 2527. 150 หน้า

เบญจรงค์  ศรีนุกูล, ตัวอย่างการประมาณราคาบ้านพักอาศัย คสล. สองชั้น ,  โครงการบ้านนภาวัลย์,กรุงเทพ ฯ , 2533.   

ธานินทร์  แพ่งสภา , ตัวอย่างการประมาณราคางานถมดิน , โครงการห้างสรรพสินค้า Carrefour, กรุงเทพ ฯ, 2536.

งานดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง , ฝ่ายดัชนีการพาณิชย์ , กองดัชนีเศรษฐกิจการค้า , ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง ,  กรมเศรษฐกิจการพาณิชย์ , กระทรวงพาณิชย์ . 2540


rscelaw@yahoo.com

ปรับปรุงแก้ไข อังคาร, 27 ธันวาคม 2548 06:35:12